น้องๆที่จะไปเรียนต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกามีสิทธิ์ถือกระเป๋าได้ 2 ใบ น้ำหนักกระเป๋าแต่ละใบต้องไม่เกิน 23 กิโลกรัมหรือ 50 ปอนด์ ส่วนน้องๆที่ไปเรียนต่อประเทศในยุโรปหรือเอเซีย มีสิทธิ์ถือกระเป๋าได้คนละ 1 ใบเท่านั้น น้ำหนักกระเป๋าคือ 20 กิโลกรัม ดังนั้น การจัดกระเป๋า ควรพิจารณาเลือกเฉพาะสิ่งที่จำเป็นต่อการนำไปใช้ในต่างประเทศจริงๆ ส่วนขนาดกระเป๋านอกจากจะดูจากขนาดมาตราฐานที่สายการบินกำหนด แล้วยังดูที่ความเหมาะสมของผู้เดินทางมีรูปร่างเล็กหรือใหญ่อีกด้วย กระเป๋าเดินทางใบใหญ่ 2 ใบควรมีความกว้าง ยาว หนา รวมกัน 62 นิ้ว ส่วนกระเป๋า Carry-on มีขนาดกว้าง ยาว หนาประมาณ 22*14*9 นิ้ว (56*35*23 ซม.) กระเป๋าเดินทางควรมีล้อเพื่อสะดวกในการลากจูง ไม่ควรเลือกกระเป๋าเดินทางที่มีขนาดเกินมาตราฐานที่สายการบินกำหนด เพราะจะถูกปรับ ข้อมูลเหล่านี้ หาดูได้จากเว็บไซต์ของสายการบินที่ใช้ในการเดินทาง เช่น
- ของ Delta Airline ดูที่เว็บไซต์ http://www.delta.com/traveling_checkin/baggage/carryon/index.jsp
- ของ United Airline ดูที่เว็บไซต์ http://www.united.com/page/middlepage/0,6823,1031,00.html?navSource=Dropdown07&linkTitle=baggage เป็นต้น
สิ่งของที่นำไปด้วย
1. เสื้อผ้าที่ใช้ใส่ไปเรียน นักศึกษาในต่างประเทศสามารถเลือกใส่ชุดอะไรไปเรียนก็ได้ เพราะไม่ต้องสวมใส่เครื่องแบบ ส่วนใหญ่นักศึกษานิยมนุ่งกางเกงยีนส์ เสื้อเชิ้ต เสื้อโปโล กรณีอากาศเย็นอาจสวมเสื้อ Pullover หรือ Sweater ทับได้ แต่ถ้าหนาวจัด ต้องการความอบอุ่นมากกว่านี้อาจมีเสื้อโค้ด หรือ แจ็คเก็ตหนาๆสวมทับอีกที นักศึกษาสามารถหาดุูรูปภาพเสื้อประเภทต่างๆ ได้จากภาพยนต์ที่เกี่ยวกับวัยรุ่น หรือจาก search engine หลากหลาย อาทิ Google,YouTube, Google Maps ปัจจุบันมหาวิทยาลัยในต่างประเทศจะมีภาพยนตร์สั้นๆให้นักศึกษาได้เห็นหน้าตามหาวิทยาลัย, บริเวณมหาวิทยาลัย, คณะต่างๆในมหาวิทยาลัยแห่งนั้น, การเรียนในชั้นเรียน, หอพัก ตลอดจนชีวิตนักศึกษาในสถานศึกษานั้นๆ ผู้ปกครองและนักศึกษาถ้าได้ทำการค้นหาผ่านสื่ออินเทอร์เน็ตมากครั้ง จะเกิดความรู้สึกเหมือนกับการเดินทางไปมหาวิทยาลัยไม่ได้ดูน่ากลัวหรือยุ่งยากเหมือนที่คิด เนื่องจากปัจจุบันเรามีสื่อออนไลน์มากมายที่จะเป็นตัวช่วยการค้นหาข้อมูลนั่นเอง ในที่นี้ จะขอยกตัวอย่างภาพยนตร์สั้นๆบางเรื่องที่ทำให้เราเห็นการแต่งกายของนักศึกษา
- Living on Campus at UCLA จะได้เห็นว่า นักศึกษาแต่งตัวกันอย่างไร หน้าตาหอพัก และอื่นๆ http://www.youtube.com/watch?v=vkkKy5KBlAI
- สำหรับนักศึกษาที่ต้องไปอยู่ในรัฐที่มีอากาศหนาว อาจจะลองดูภาพยนตร์ที่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยที่ตนกำลังจะเดินทางไปศึกษาต่อ อาทิ Cornell University ในฤดูหนาว http://www.youtube.com/watch?v=BKUeaRrZ6oU&feature=related หรือนักศึกษาปริญญาโทบริหารธุรกิจที่ New York University จะมีการแต่งกายที่แตกต่างจากการไปศึกษาต่อวิชาอื่นๆ ขอเน้นว่า เฉพาะผู้ที่จะเตรียมตัวไปเข้าเรียนต่อ MBA ในมหาวิทยาลัยระดับชั้นนำของประเทศ การแต่งกายของนักศึกษาจะค่อนข้างเหมือนคนไปทำงานบริษัทมากกว่า คือ นิยมใส่เชิ้ตแขนยาวและมีเสื้อคอปิดหรือเสื้อสูทสวมทับไปเรียนกัน http://www.youtube.com/watch?v=MkEmgqkadSw&feature=related แต่ชีวิตนอกห้องเรียนของนักศึกษาเหล่านี้ก็ไม่ต่างจากนักศึกษาทั่วไป http://www.youtube.com/watch?feature=endscreen&v=ngDvRr2gQsY&NR=1 ดังนั้นการได้ศึกษาตัวอย่างจากภาพยนตร์สั้นๆเหล่านี้ไว้บ้างจะช่วยทำให้นักศึกษาเตรียมนำเสื้อผ้าทำนองนี้ติดกระเป๋าเดินทางไปบ้าง ไม่ต้องไปลำบากหาที่ต่างประเทศในช่วงวันแรกๆที่เพิ่งเดินทางไปถึงใหม่ๆ
2. เสื้อใช้ในโอกาสพิเศษ เช่นใช้ Present งาน หรือใช้สมัครงาน ไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิง ควรเตรียมกางเกงทรง Slack กับเสื้อสูทไปด้วย สำหรับชุดไทยๆ ควรมีไปบ้างเพื่อนำไปใช้ในงาน International night หรือ Thai night ด้วยก็ดี เพราะเป็นหนทางหนึ่งในการเผยแพร่วัฒนธรรมไทย
3. ชุดชั้นใน เตรียมไปพอประมาณ เพราะถ้าไปอยู่นานเกิน 1 ปีคงต้องซื้อชุดชั้นในในต่างประเทศใช้บ้าง อย่ากังวลเรื่องรูปทรงหรือขนาด เพราะมีหลายขนาดและหลายแบบให้เลือก
4. ยารักษาโรค นักศึกษาบางคนมีโรคประจำตัวที่ต้องรับประทานยาเป็นประจำ ถ้าต้องนำไปด้วยเป็นปริมาณมาก ควรมีใบรับรองจากแพทย์ บอกปริมาณการรับประทานยา ชื่อโรคประจำตัวไว้ด้วย กรณีถูกเจ้าหน้าที่ศุลกากรในสหรัฐอเมริกาซักถาม
5. แว่นตา หรือ contact lens ควรเตรียมชุดสำรองไปด้วยสัก 2 หรือ 3 ชุด เพราะการซื้อ แว่นตา หรือ contact lens ต้องมี eye measurement จากแพทย์ที่วัดสายตาจึงจะซื้อแว่นตาใหม่ หรือ contact lens ใหม่ได้
6. อาหาร ไม่ควรนำอาหารที่เป็นเนื้อสัตว์ ผักสด หรือ อาหารที่มีส่วนประกอบของเนื้อสัตว์เข้าประเทศสหรัฐอเมริกา เช่น ข้าวตังหมูหยอง หมูแผ่น เป็นต้น เพราะนอกจากจะต้องทิ้งแล้วยังอาจถูกปรับอีกด้วย ถ้าไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกาสามารถดูได้ที่ http://www.cbp.gov/xp/cgov/travel/id_visa/arriving_travelers.xml ส่วนสิ่งของใดที่ไม่ควรนำขึ้นเครื่องดูที่ http://www.tsa.gov/travelers/airtravel/prohibited/permitted-prohibited-items.shtm
7. ของฝาก เช่น ของฝากที่แสดงเอกลักษณ์ไทย ควรนำติดตัวไปด้วยบ้าง เพื่อมอบให้อาจารย์ที่ปรึกษาหลังจากจบการศึกษาแล้ว ไม่ควรให้อาจารย์ก่อนเรียนจบ เพราะอาจารย์บางท่านจะไม่ยอมรับ เกรงจะเป็นการติดสินบน นอกจากจะให้อาจารย์ที่ปรึกษาแล้ว ยังอาจมีไว้แจกเพื่อน หรือคนรู้จักเพื่อแนะนำประเทศไทย
8. หนังสือเรียน เลือกเล่มที่ถูกใจจริงๆ เพราะหนังสือจะเพิ่มน้ำหนักกระเป๋า ทำให้ไม่สามารถนำของที่ต้องการนำไปใช้จริงๆไปได้ เพราะกระเป๋ามีน้ำหนักเกิน สำหรับพจนานุกรม ในปัจจุบันนอกจากมี Talking Dict แล้ว นักศึกษายังสามารถค้นหาคำศัพท์ได้จากเว็บไซต์ประเภทพจนานุกรมออนไลน์ทั้งหลาย
อนึ่ง ในปัจจุบันมีหนังสือหลายประเภท เช่น หนังสือพิมพ์ นวนิยาย ฯลฯ ในประเทศไทย ที่หนังสืออยู่ในลักษณะประเภท eBook ซึ่งอาจจะช่วยคลายความเหงาของนักศึกษา กรณีต้องการอ่านหนังสือเป็นภาษาไทย เพียงแต่บางเล่มอาจต้องจ่ายเงินค่าดาวน์โหลดหนังสือเท่านั้นเอง
Copyright © 2010 GoVisaEdu All rights reserved.