การศึกษาวิชาแพทย์ศาสตร์ในระดับ Graduate Education เป็นการศึกษาเพื่อฝึกฝนความชำนาญในการวินิจฉัยโรคและรักษาโรค จะเป็นการเน้นเฉพาะโรคคือเป็นการฝึกฝนความชำนาญเฉพาะด้าน (speciality) และมีความรับผิดชอบต่อคนไข้กว้างกว่านักเรียนแพทย์ระดับ MD เรียกหลักสูตรนี้ว่า Residency Program และเรียกนักศึกษาแพทย์ที่ฝึกฝนความชำนาญเฉพาะด้านนี้ว่า Residents หลักสูตรแพทย์ศาสตร์ในระดับ Graduate Education นี้จะใช้เวลานานประมาณ 3-7 ปี การฝึกฝนในสาขา Speciality หลักๆจะใช้เวลานาน 3 ปีแต่การฝึกความชำนาญเฉพาะด้านระดับสูงจะใช้เวลาเพื่มขึ้นอีก 2-4 ปีแล้วแต่ความต้องการของ Residents แต่ละคน เช่น Cardiovascular Disease เป็น Sub-speciality ของ Internal Medicine Resident จะต้องฝึกฝน Internal Medicine ก่อน 3 ปี แล้วจึงจะมีสิทธิ์ฝึกฝนความชำนาญด้าน Cardiovascular อีก 2 ปี ดังนั้น ความยาวของกระบวนการฝึกอบรมนี้อยู่ที่ระหว่าง 7-14 ปีขึ้นไป ขึ้นอยู่กับความชำนาญพิเศษในระหว่างการฝึกฝนความชำนาญตามหลักสูตร Residency Programs Residents จะได้รับมอบหมายให้สามารถตัดสินใจในการรักษาโรคได้แต่ยังคงต้องอยู่ภายใต้การได้รับคำแนะนำของ Physician อยู่ จากข้อมูลของ NRMP (National Resident Matching Program) แพทย์เฉพาะทาง 10 สาขาวิชา ใช้เวลาในการฝึกฝนความชำนาญดังนี้
- อายุรศาสตร์ (Internal Medicine) ใช้ระยะเวลา 3 ปี
- เวชศาสตร์ครอบครัว (Family Medicine) ใช้ระยะเวลา 3 ปี
- เวชศาสตร์ฉุกเฉิน (Emergency Medicine) ใช้ระยะเวลา 3 – 4 ปี
- กุมารเวชศาสตร์ (Pediatrics) ใช้ระยะเวลา 3 ปี
- จิตเวชศาสตร์ (Psychiatry) ใช้ระยะเวลา 4 ปี
- การแพทย์เฉพาะกาล( Transitional Medical Year) ใช้ระยะเวลา 1 ปี
- แพทยศาสตร์ (ชั้นต้น) Medicine (Preliminary Year)ใช้ระยะเวลา 1 ปี
- การผ่าตัด (Surgery) ใช้ระยะเวลา 5 ปี
- วิสัญญีวิทยา ( Anesthesiology) ใช้ระยะเวลา 4 ปี
- สูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา (Obstetrics-Gynecology) ใช้ระยะเวลา 4 ปี
คำศัพท์ที่ใช้เรียกนักศึกษาแพทย์ระดับต่างๆ https://www.yousmle.com/understanding-differences-intern-vs-resident-vs-fellow-vs-attending/
- Medical Student นักศึกษาแพทย์คือ บุคคลที่รับเข้าเรียนในโรงเรียนแพทย์และทำงานในระดับปริญญาทางการแพทย์ (ในสหรัฐอเมริกา จะเป็น MD หรือ DO-Osteopathic Medicine )ในสหรัฐอเมริกา โดยปกติ MD หรือ DO จะเป็นหลักสูตร 4 ปี 2 ปีแรกเป็นการศึกษาภาคทฤษฎีและการบรรยายเป็นหลัก จากนั้น ในช่วง 2 ปีสุดท้าย จะใช้เวลามากขึ้นในสถานพยาบาล ในช่วงที่มีการฝึกอบรมทางคลินิก นักศึกษาแพทย์จะถูกหมุนเวียนไปตามความเชี่ยวชาญพิเศษต่างๆ อย่างไรก็ตาม การสอนในโรงพยาบาลจะเป็นการเปิดโอกาสให้นักศึกษาแพทย์สังเกต ศึกษาการวินิจฉัยผู้ป่วย ซักประวัติผู้ป่วย (โดยมี Residents หรือ Attending คอยทบทวนให้)
- Resident ผู้เข้ารับการฝึกอบรมระดับบัณฑิตศึกษาจากโรงเรียนแพทย์ในสถานพยาบาลที่ได้รับการรับรอง หลังจากนักศึกษาแพทย์ถูกหมุนเวียนไปฝึกตามความเชี่ยวชาญพิเศษต่างๆแล้ว นักศึกษาแพทย์จะเริ่มรู้แล้วว่าชอบวิชาอะไรเป็นพิเศษและต้องการหลีกเลี่ยงวิชาใด ช่วงนี้ถือว่าอยู่ในช่วงเริ่มต้น postgraduate medical Education years การแพทย์ระดับสูงกว่าปริญญาตรีซึ่งมักเรียกว่า PGY Residency programs จะเป็นก้าวต่อไปบนเส้นทางสู่การประกอบวิชาชีพเวชกรรม Residency programs ใช้ระยะเวลาตั้งแต่ 3 ปี ( เช่น กุมารเวชศาสตร์ pediatrics) ถึง 7 ปี (ศัลยกรรมประสาท neurosurgery) ในช่วงเวลานี้ Residents สามารถรักษาและดูแลผู้ป่วยได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของ Attending physician, Fellow หรือ senior Residents เท่านั้น
- Intern เป็นคำที่ใช้เรียก Resident ปี 1 ไม่ว่าจะเข้าเรียนในสาขาความเชี่ยวชาญพิเศษใด ถือว่า Intern เป็นผู้ฝึกงานในปีแรก (PGY1) ของ Resident การเป็น Intern จะไม่ได้ถูกหมุนเวียนหรือฝึกอบรมในสาขาพิเศษเฉพาะทางของแต่ละคน เช่น ปีแรกของ Resident อาจเป็นการฝึกอบรมด้านอายุรศาสตร์หรือศัลยกรรมทั่วไปในสาขาเฉพาะทางบางอย่าง เช่น ประสาทวิทยา ผิวหนัง หรือเนื้องอกวิทยา สำหรับปีแรกของการฝึกจะถูกเรียกว่า preliminary (หรือ prelim) year หลังจากผ่านปี Intern ไปก็จะเป็น Resident การเรียกชื่อ Resident ก็จะเรียกตามชื่อสาขาวิชาที่ฝึก เช่น Pediatrics Resident, Anesthesiology Resident เป็นต้น ในช่วงที่เป็น Intern หรือเป็น Resident ก็จะได้รับเงินเดือนด้วย
- Fellow คือ แพทย์ที่ผ่านการฝึก Residency Program แล้ว หลังจากสิ้นสุดระยะเวลาฝึก Residency programs แพทย์บางคนอาจจะเข้ารับการฝึกอบรมเพิ่มเติมที่สามารถเลือกได้หรืออาจจำเป็นสำหรับสาขาเฉพาะทางเฉพาะ (specific subspecialties) เช่น หากต้องการเป็นแพทย์โรคหัวใจหรือแพทย์โลหิตวิทยาในเด็ก ก็จะต้องมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ช่วงนี้จึงเรียกว่า ช่วง Fellowship
- Attending คือ แพทย์ที่มีใบอนุญาตซึ่งสามารถปฏิบัติงานได้โดยไม่ต้องได้รับการดูแลและยังมีหน้าที่ดูแล Interns, Residents และ Fellows ในสาขาเชี่ยวชาญของตน และยังมีหน้าที่ดูแลผู้ป่วยด้วย Attending เป็นแพทย์อิสระเต็มเวลาที่เชี่ยวชาญในสาขาที่เลือกตามความถนัด Attending จะได้รับการรับรองจากคณะกรรมการและมีสิทธิ์ฝึกฝนโดยไม่ต้องมีการควบคุมดูแล ซึ่งหมายความว่า Attending สามารถกำหนดทิศทางการดูแลผู้ป่วยได้ Attending Physician ยังมีชิ่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า Staff Physician หรือ Supervising Physician Attending มักจะเป็นผู้ดูแลหรือดูแลแพทย์ที่ไม่ได้มีประสบการณ์มากกว่า เช่น Interns, Residents, Fellows
ส่วนใหญ่โรงเรียนแพทย์ของสหรัฐอเมริกาไม่ค่อยยอมรับหมอที่เป็นพลเมืองที่ไม่ใช่สหรัฐอเมริกา ยกเว้นหมอที่เป็นพลเมืองของแคนาดา ผู้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนแพทย์ต่างประเทศจะต้องมีคะแนนสอบ USMLE และสนใจที่จะฝึกอบรม Residency Programs ในสหรัฐอเมริกาได้ อย่างไรก็ตาม ผู้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนแพทย์ในสหรัฐฯ จะมีความสำคัญเป็นลำดับแรกในการถูกเลือกเข้าฝึกอบรม Residency Programs
หลักเกณฑ์ในการคัดเลือกผู้เข้าฝึกอบรมหลักสูตร Residency Programs
ในการคัดเลือกบุคคลเข้ารับการฝึกฝนความชำนาญในหลักสูตร Residency Programs ผู้อำนวยการโครงการ (Program Directors) จะต้องมั่นใจว่า ผู้สมัครจะต้องมีความรู้ในวิชาแพทย์ศาสตร์อย่างเพียงพอและมีมาตราฐานที่สูงพอที่จะดูแลรักษาคนไข้ได้อย่างเหมาะสม การฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทางเป็นการฝึกฝนและลงมือปฏิบัติจริงในสถานการณ์จริงในโรงพยาบาล ผู้เข้ารับการฝึกฝนอบรมจะต้องมีความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อความหมายกับผู้ป่วยได้เป็นอย่างดี และเป็นผู้มีความรับผิดชอบในงานลักษณะนี้ได้ ผู้สมัครเข้ารับการฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทางที่เป็นผู้สำเร็จการศึกษาปริญญาแพทย์ศาสตร์จากสถานศึกษาในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา จะต้องเป็นผู้ที่สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรที่ได้รับการรับรองมาตราฐานจาก Liaison Committee on Medical Education (LCME) แล้วเท่านั้น ที่จะมีสิทธิ์สมัคร Residency Programs ได้
กรณีผู้สำเร็จการศึกษาวิชาแพทย์ศาสตร์จากต่างประเทศ และต้องการสมัครเข้าอบรมแพทย์เฉพาะทางจะต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนั้
- 1.สำเร็จการศึกษาหลักสูตรปริญญาแพทย์ศาสตร์ (MD) จากสถานศึกษาที่มีชื่ออยู่ใน The World Directory 0f Medical Schools ของ The World Health Organization https://wfme.org/world-directory/ สำหรับรายชื่อมหาวิทยาลัยในประเทศไทยที่มีหลักสูตรแพทย์ศาสตร์ที่ได้รับการรับรอง https://www.imeac.org/ และตั้งแต่ปีคศ. 2024 เป็นต้นไป หากโรงเรียนแพทย์ของผู้สมัครไม่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานรับรองวิทยฐานะระดับชาติที่ WFME ยอมรับ ผู้สมัครจะไม่สามารถสมัครขอรับการรับรอง ECFMG ได้อีกต่อไป
- 2. ผ่านการสอบวิชา Medical Sciences จาก ECFMG ที่มีชื่อการทดสอบว่า The US Medical Licensing Examination (USMLE) ซึ่งมีอยู่ 3 Steps โดยผู้สมัคร Residency programs จะต้องผ่าน USMLE step1 และ step2
- 3. ผ่านการทดสอบภาษาอังกฤษจาก ECFMG
- 4. ได้รับใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมจากประเทศของตนเอง
- 5. ได้รับหนังสือรับรองจาก ECFMG ว่า มีคุณสมบัติครบถ้วนและเหมาะสมตามที่เอ่ยมาแล้วข้างต้น
- 6. Letters of Recommendation มีจดหมายแนะนำที่ชัดเจนจากแพทย์หรืออาจารย์ที่สามารถรับรองทักษะและอุปนิสัยของตัวผู้สมัครได้
- 7. Personal Statement ความเรียงที่สามารถอธิบายได้ว่า ทำไมอยากประกอบอาชีพแพทย์ในสหรัฐอเมริกา และอะไรทำให้ตัวผู้สมัครมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว สิ่งนี้จะช่วยสร้างความแตกต่างอย่างมากให้กับใบสมัครของคุณ
- 8. มีคุณสมบัติครบถ้วนในการขอวีซ่าเข้าสหรัฐอเมริกา ประเภท J-1 หรือ H-1B แล้วแต่กรณี
ระบบการเลือกสรรโดยวิธีการจับคู่ (The National Resident Matching Program)
ระบบการเลือกสรรโดยวิธีการจับคู่ (The National Resident Matching Program-NRMP) กับตำแหน่งที่เปิดรับในชั้นปีที่ 1 ของหลักสูตรฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทางโครงการ NRMP หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า the Match โครงการ NRMP ก่อตั้งขึ้นในปีคศ. 1952 เพื่อจัดส่งนักศึกษาจากโรงเรียนแพทย์ของสหรัฐอเมริกาเข้าร่วมโครงการฝึกอบรม Residency Programs ในโรงพยาบาล สำหรับ NRMP International ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ National Resident Matching Program นั้นก่อตั้งขึ้นในปี 2010 เพื่อให้บริการจับคู่ทางการแพทย์แก่นักศึกษาแพทย์ที่จบจากสถาบันนอกสหรัฐอเมริกาและแคนาดา NRMP เป็นขั้นตอนที่แยกออกจากวิธีการสมัครฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทางของแต่ละคน ผู้ที่สมัครเข้าในตำแหน่งชั้นปีที่ 1 นี้จะต้องดำเนินการทั้งส่งสมัครตามคุณสมบัติที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นและจะต้องสามารถเข้าเรียนการศึกษาด้านการแพทย์ระดับบัณฑิตศึกษา (Graduate Medical Education-GME) ได้ภายในวันที่ 1 กรกฎาคมในปีที่แข่งขัน โดยจะต้องมีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนดทั้งหมดสำหรับการเข้าสู่ GME ตามที่สภาการรับรองระบบงานสำหรับผู้สำเร็จการศึกษาด้านการแพทย์ (ACGME®) กำหนดไว้ พร้อมกันนั้นผู้สมัครจะต้องส่งสมัครการเลือกสรรโดยวิธีการจับคู่หลักสูตรแพทย์เฉพาะทาง แทบทุกหลักสูตรจะเข้าร่วมโครงการ NRMP และเซ็นต์สัญญาไว้ว่าจะไม่ให้ตำแหน่งแก่ผู้ที่มิได้สมัครผ่านโครงการ NRMP และผู้ที่ไม่ได้สมัครผ่านโครงการ NRMP จะไม่ได้รับการพิจารณาทั้งสองกรณี ดังนั้นผู้ที่เคยผ่านการฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทางจากประเทศอื่นที่ไม่ใช่ประเทศสหรัฐอเมริกาจึงต้องสมัครเข้าร่วมโครงการ NRMP นี้ด้วย ซึ่งเป็นการสมัครเข้าฝึกอบรมในปีที่ 1 การสมัครเข้าอบรมในปีที่ 2 ขึ้นไปมิอาจพิจารณาได้เพราะผู้อำนวยการฝึกอบรมไม่อาจประเมินคุณภาพของการฝึกอบรมภายนอกสหรัฐอเมริกาได้ จึงจำเป็นต้องพิจารณาเฉพาะกรณีที่สมัครฝึกอบรมในชั้นปีที่ 1 เท่านั้น
การสมัครเข้าร่วมโครงการ NRMP มีขั้นตอนดังนี้
- 1. ผู้สมัครควรลงทะเบียนและกรอกใบสมัคร Electronic Residency Application Service (ERAS®) ก่อน https://students-residents.aamc.org/applying-residencies-eras/applying-residencies-eras-system ไม่จำเป็นต้องมี NRMP ID เพื่อส่งใบสมัคร ERAS อย่างไรก็ตาม ผู้สมัครจับคู่จะต้องมีรหัส AAMC เพื่อลงทะเบียนกับ NRMP สำหรับ Main Residency Match®
- 2. เมื่อลงทะเบียนกับ NRMP แล้ว ผู้สมัครควรกลับเข้าสู่ระบบ ERAS และอัปเดตโปรไฟล์ของตนด้วย NRMP ID เพื่อทำให้ผู้อำนวยการโครงการ (Program Director) ระบุตัวตนของผู้สมัครในรายการลำดับตำแหน่งของโปรแกรมได้ง่ายขึ้น
- 3. ผู้สมัครจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนสมัครเข้า Residency Programs ต่อสถานศึกษาและได้รับการสัมภาษณ์เสร็จสิ้นในเดือนกุมภาพันธ์
- 4. จัดทำบัญชีรายชื่อสาขาวิชาที่ต้องการเรียนตามลำดับมากไปหาน้อยแล้วจัดส่งให้ NRMP ภายในเดือนกุมภาพันธ์ พร้อมกับหนังสือรับรองจาก ECFMG ว่าผ่านการทดสอบที่จำเป็นต่างๆเรียบร้อยแล้ว
- 5. NRMP จะดำเนินการ matching ผู้สมัครเข้ากับตำแหน่งแพทย์เฉพาะทางปีที่ 1 ที่เปิดรับสมัครในปีนั้น เรียงตามลำดับความต้องการของผู้สมัคร
- 6. NRMP จะประกาศผลของการ matching ในเดือนมีนาคม และจะส่งผลไปให้ผู้สมัครทางอีเมล์
- 7. กรณีผู้สมัครที่ไม่ได้รับการคัดเลือก NRMP จะจัดส่ง Result Book แจ้งว่ามีตำแหน่งว่างของสาขาใดยังเปิดรับได้อยู่ ถ้าผู้สมัครสนใจสาขาใด ก็ให้รีบติดต่อกับ Program Director ทันที
กรณีผู้สำเร็จวิชาแพทย์ศาสตร์บางคนที่ไม่ต้องการการฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทางตามโครงการ Residency Programs แต่สนใจการฝึกอบรมในด้านอื่นๆแทนแต่เป็นการฝึกอบรมในประเทศสหรัฐอเมริกา ก็ไม่จำเป็นต้องได้รับหนังสือรับรองจาก ECFMG ทางเลือกอื่นๆมีดังนี้คือ
- 1. การศึกษาวิชาแพทย์ศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์การแพทย์ในระดับปริญญาโท ปริญญาเอก เพื่อเป็นนักวิจัยด้านการแพทย์ หรือเป็นอาจารย์สอนวิชา Basic Medical Sciences เช่น Microbiology, Anatomy หรือการศึกษาด้าน Pre-Clinic
- 2. การศึกษาปริญญาโทด้าน Public Health https://www.usnews.com/best-graduate-schools/top-health-schools/public-health-rankings หรือด้าน Health Care Administration หรือด้าน Hospital Administration
- 3. การฝึกอบรมระยะสั้นหรือการฝึกอบรมที่ไม่มีวัตภุประสงค์ที่จะรับวุฒิบัตร แต่มีโอกาสที่จะได้เกี่ยวข้องกับคนไข้ในลักษณะสังเกตการณ์ และจะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ที่มีใบอนุญาตเท่านั้น ผู้สนใจสมัครการฝึกอบรมระยะสั้นสามารถติดต่อขอข้อมูลโดยตรงจาก ECFMG
ที่มา
- https://www.nrmp.org/residency-applicants/get-ready-for-the-match/are-you-eligible/
- https://www.aafp.org/students-residents/medical-students/become-a-resident/applying-to-residency/international-medical-graduates.html
- https://web.facebook.com/USResidencyMEDNU/posts/1810569382287174/?_se_imp=0xolLtXit9n0d1q0D&paipv=0&eav=Afb2tr7ZaaXnEeHnBcj7hvojsQwVULHAe6wMqWZoEUzXwIspORepMBhKElFt14Pyx1k&_rdc=1&_rdr
- https://www.ama-assn.org/
- https://explore.medstudy.com/blog/residency-rank-list?keyword=nrmp%20match&utm_campaign=2024-student&utm_source=paidgoogle&utm_medium=studentcpc&utm_term=nrmp%20match&utm_adgroup=158399508180&gad_source=1
- https://www.residencyprogramslist.com/apply-for-medical-residency-in-usa เป็นเว็บไซต์ที่มีประโยชน์ต่อผู้สมัคร นอกจากอธิบายขั้นตอนการสมัครยังมีผังจำลองให้ใส่คะแนนสอบ USMLE step1 และ step2 ประเทศที่จบแพทย์ศาสตร์ ปีที่จบ ประสบการณ์ในการทำงาน เพื่อค้นหาสถานที่เรียนได้ด้วย
Copyright © 2010-2024 GoVisaEdu All rights reserved