ต้องตรวจสุขภาพเรียนต่อที่อเมริกาไหม?

ก่อนไปศึกษาต่อที่อเมริกา มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ทำให้นักศึกษาเกิดความกังวล เช่น จะจดเล็กเชอร์ทันไหม จะพูดให้ฝรั่งเข้าใจไหม จะเตรียมซื้อเงินไปเท่าไรดี หรือจะต้องตรวจสุขภาพก่อนเดินทางไหม ฯลฯ

ในเรื่องของสุขภาพ นักศึกษาสบายใจได้ในระดับหนึ่งที่สถานทูตสหรัฐอเมริกาไม่ได้ตั้งเงื่อนไขว่า นักศึกษาต้องมีผลการตรวจสุขภาพเหมือนประเทศอื่นๆ ถ้าเป็นเช่นนั้น การตรวจสุขภาพยังต้องทำไหม คำแนะนำ คือ ถ้ายังพอมีเวลาที่จะไปตรวคเช็คสุขภาพก็ไปทำเสีย เพราะวัยรุ่นหลายคนในปัจจุบันอดนอนดึก เนื่องจากการคุยกันผ่านทางอินเทอร์เน็ตบ้าง หรือ อาจจะดูหนังฟังเพลงผ่านทางอินเทอร์เน็ต ดังนั้น วัยรุ่นบางคนไม่เคยทราบมาก่อนเลยว่า ตนเองนั้นมีสุขภาพอ่อนแอ บางคนอาจคิดว่า ถ้ายังเป็นวัยรุ่นอยู่คงไม่มีปัญหาเรื่องสุขภาพ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า วัยรุ่นอาจละเลยว่า มีสิ่งผิดปกติในร่างกายซ่อนเร้นอยู่ และไปก่ออาการในต่างประเทศ เช่น บางคนมีปัญหาสุขภาพในช่องปาก รากฟันผุโดยไม่เคยทราบมาก่อน

การไปทำประกันสุขภาพในสหรัฐอเมริกา ค่าใช้จ่ายจะไม่ครอบคลุมสุขภาพในช่องปาก และ ตา ดังนั้น เมื่อพบปัญหาแล้วไปทำการรักษาเรื่องฟันและโรคอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับฟัน นักศึกษาหลายคนต้องพบว่า ค่ารักษาพยาบาลที่สหรัฐอเมริกาแพงมาก จนไม่สามารถแบกรับภาระได้ จึงยอมเสียเงินค่าตั๋วเครื่องบินมารับการรักษาที่เมืองไทย ดังนั้น เวลาทำประกันสุขภาพ จึงต้องศึกษารายละเอียดให้ดี หรือถามรุ่นพี่ที่อยู่ในมหาวิทยาลัยเดียวกันกับเราว่า เขาเลือกทำประกันสุขภาพประเภทใด ถ้าต้องการให้ประกันสุขภาพครอบคลุมทั้งโรคทางตาและฟัน ค่าประกันสุขภาพจะแพงขึ้นมาก และนักศึกษาหลายคนอาจคิดว่าไม่คุ้ม เพราะประกันสุขภาพเป็นประเภทของประกันที่ถ้าไม่มีอาการเจ็บป่วย ก็ไม่ได้รับเงินคืน แต่ถ้าไม่มีประกันสุขภาพ นักศึกษาก็จะพบกับค่ารักษาพยาบาลที่แพงมากหากเจ็บป่วยขึ้นมา ดังนั้นการดูแลรักษาสุขภาพจึงเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นยามอยู่ในต่างแดน

ก่อนเดินทางไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา หากยังพอมีเวลาเหลืออยู่ ลองไปเช็คอัพ ตรวจสุขภาพดูกันบ้างว่า เราแข็งแรงมากน้อยแค่ไหน แต่ต้องขอย้ำว่า สถานทูตไม่ได้ต้องการผลตรวจสุขภาพ เพื่อใช้ยื่นขอวีซ่าแต่อย่างใด และมหาวิทยาลัยมากกว่า 85% ก็ไม่ได้เรียกร้องให้นักศึกษาต้องตรวจสุขภาพไปก่อน กรณีถ้าจะตรวจสุขภาพก่อนไป ก็มักมีคำถามเกิดขึ้นอีกว่า ตรวจที่ไหนดี ปัจจุบันโรงพยาบาลทั้งหลายจะมีโปรแกรมเช็คอัพสุขภาพ ให้นักศึกษาขอใบรับรองเป็นภาษาอังกฤษด้วยว่า ทางโรคพยาบาลได้ตรวจอะไรให้เราบ้าง เพื่อประโยชน์ในภายภาคหน้า เช่น เกิดเจ็บป่วยที่สหรัฐอเมริกา แพทย์ที่สหรัฐอเมริกาต้องการดูประวัติสุขภาพ ก็จะได้ใช้หลักฐานเหล่านี้ยื่นให้เขาดู หรือ ถ้าต้องไปทำประกันสุขภาพที่สหรัฐอเมริกา มหาวิทยาลัยขอให้นักศึกษาตรวจสุขภาพ นักศึกษาอาจจะนำผลตรวจที่ตรวจก่อนเดินทางไปศึกษาต่อที่อเมริกาให้เจ้าหน้าที่เขาดู หากเจ้าหน้าที่แจ้งว่า ยังต้องตรวจบางโรคเพิ่ม เพราะการที่เราอยู่ในประเทศเขตร้อน อาจมีบางโรคในเขตหนาวที่เราไม่ได้มีผลการตรวจไปให้เขาดู จึงทำให้นักศึกษาต้องถูกตรวจเพิ่มเติม ขอให้นักศึกษาทำใจในระดับหนึ่งว่า ถ้าต้องตรวจอะไรเพิ่ม อย่าคิดว่า เสียเวลา หรือ ไม่น่าตรวจมาก่อนเลย เพราะไม่ได้มีระเบียบบังคับว่าต้องตรวจไปก่อน แต่ที่แนะนำให้ตรวจไปก่อน เพราะบางรายป่วยอยู่แล้วก่อนเดินทาง แต่ไม่มีอาการของโรคปรากฏ เมื่อไปถึงสหรัฐอเมริกาได้ไม่กี่เดือน เกิดอาการของโรคปรากฏขึ้น  แล้วหาสาเหตุไม่ได้ไม่รู้ว่า ป่วยมาตั้งแต่เมื่อไร เช่น เคยพบวัยรุ่นไปป่วยด้วยโรคฟัน หรือ  โรคเนื้อร้ายที่บางส่วนในร่างกาย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอนในชีวิต ถ้านักศึกษามีการเตรียมความพร้อมเสียแต่เนิ่นๆ จะได้ใช้เวลาที่เหลือทุ่มเทไปกับการศึกษาได้เต็มที่โดยไม่ต้องพะวงกับสุขภาพ

สำหรับบางมหาวิทยาลัยอาจส่งลิงก์ของเว็บไซต์แบบฟอร์มตรวจสุขภาพมาให้ ซึ่งนักศึกษาสามารถนำแบบฟอร์มนั้นไปให้แพทย์ที่โรงพยาบาลตรวจได้เลยทันที แต่ถ้ามหาวิทยาลัยไม่มีแบบฟอร์มมา ให้ลองเข้าไปค้นหาในเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยภายใต้หัวข้อ Health Center หรือ เมื่อนักศึกษาเดินทางไปถึงสหรัฐอเมริกาแล้ว ให้ไปตรวจสุขภาพตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด อย่างไรก็ตาม สำหรับนักศึกษาที่ชอบการเตรียมความพร้อมก่อนล่วงหน้า อาจจะมีคำถามถามว่า ควรฉีดยาป้องกันโรคอะไรไปบ้าง คำตอบ คือ ไม่มีระบียบการที่แน่นอนจากทุกมหาวิทยาลัย แต่ขอให้สังเกตจากเว็บไซต์ของหลายสถาบัน ซึ่งมักจะเน้นให้นักศึกษาฉีดวัควีนป้องกันโรค MMR  คือ  Mumps, Measles and Rubella ซึ่งมักจะอยู่ในเข็มเดียวกัน ให้สอบถามจากเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล และให้โรงพยาบาลออกใบรับรองเป็นภาษาอังกฤษด้วยว่า ฉีดเมื่อไร ถ้าตัดสินใจไม่ได้ว่า ควรเลือกไปโรงพยาบาลใดดี ให้ลองดูโรงพยาบาลที่บรรดาสถานทูตประเทศอื่นๆ ให้การรับรองผลการตรวจสุขภาพ (หัวข้อ “ตรวจสุขภาพก่อนไปต่างประเทศ”)  เพราะโรงพยาบาลเหล่านี้น่าจะมีความเชี่ยวชาญในการตรวจนักศึกษาที่จะเดินทางไปสึกษาต่อในต่างประเทศได้ดีในระดับหนึ่ง นอกเหนือจาก MMR อีกโรคหนึ่งที่ควรฉีด คือโรคไข้กาฬหลังแอ่น (Meningococcal) บางที่อาจใช้ศัพท์ว่า โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ให้สอบถามนายแพทย์ดูอีกครั้งหนึ่งเรื่องชื่อโรค Meningococcal  ลองดูตัวอย่างจากเว็บไซต์ของ  American University  http://american.edu/ocl/healthcenter/Mandatory-Immunization-Information.cfm มหาวิทยาลัยได้มีการชี้แจงเรื่องการฉีดวัคซีนป้องกันโรคดังกล่าวไว้ที่เว็บไซต์  http://american.edu/ocl/healthcenter/loader.cfm?csModule=security/getfile&pageid=39852   หรือตัวอย่างแบบฟอร์มประวัติสุขภาพของนักศึกษาที่จะเข้าเรียนที่   American University  http://american.edu/ocl/healthcenter/loader.cfm?csModule=security/getfile&pageid=39897  สำหรับตัวอย่างแบบฟอร์มต่างๆที่นำเสนอไว้ ณ ที่นี้ ไม่สามารถนำไปใช้กับมหาวิทยาลัยอื่นที่นักศึกษาจะไปศึกษาต่อได้ เพราะต่างสถาบันกัน กฎระเบียบย่อมแตกต่างกันบ้างเล็กน้อย ถ้าหากค้นหาแบบฟอร์มสุขภาพของมหาวิทยาลัยไม่พบ อาจสอบถามมาได้ที่นี่  เพื่อให้ช่วยค้นหาให้ หรือสอบถามไปยังมหาวิทยาลัยที่รับนักศึกษาโดยตรงเอง

อีกโรคหนึ่งที่มหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกามักจะให้นักศึกษาตรวจก่อนทำประกันสุขภาพ คือ การทำ skin test เพื่อตรวจว่า นักศึกษามีเชื้อวัณโรคหรือไม่ เนื่องจากประเทศไทยมีชื่อติดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงระดับสูงสุดด้วยโรคนี้ จึงต้องทำการตรวจว่า นักศึกษามีเชื้อวัณโรคหรือไม่ด้วย ลองดูเว็บไซต์ของ Kansas State University เป็นตัวอย่าง http://www.k-state.edu/lafene/tbrisk.htm#high

นอกจากนี้ อาจมีเพิ่มบางโรคที่อยู่ในยุคสมัยที่กำลังมีการแพร่ระบาด เช่น โรคซาร์ โรคไข้หวัด 2009 ที่เคยเป็นโรคฮือฮาเมื่อปีสองปีที่ผ่านมา ลองดูเว็บไซต์ของ American University http://american.edu/ocl/healthcenter/Health-Alerts-and-Advisories.cfm นอกเหนือไปจากนี้ คือ การมีโรคประจำตัวของนักศึกษา ที่ควรเตรียมใบรับรองแพทย์ ประวัติการใช้ยา ชื่อนายแพทย์ และสถานที่ติดต่อนายแพทย์ รวมทั้งอีเมล์ของนายแพทย์ในประเทศไทย กรณีนักศึกษาไปเจ็บป่วยในต่างประเทศ และต้องมีการติดต่อกลับมาเพื่อสอบถามประวัติการรักษาพยาบาลในประเทศไทย แพทย์ในสหรัฐอเมริกาจะได้ทราบข้อมูลว่าควรติดต่อสอบถามใคร หรือสอบถามไปที่ใด เป็นต้น

Copyright © 2010-2011 GoVisa All rights reserved.