หลายคนที่กำลังเตรียมตัวจะเดินทางไปลงทะเบียนเรียนต่อในประเทศสหรัฐอเมริกาในภาคการศึกษาฤดูใบไม้ร่วง (Fall) หรือเดือนสิงหาคมนี้ มีคำถามในใจว่า ควรถือเงินประเภทใดไปจ่ายเป็นค่าเล่าเรียน ค่าที่พัก และค่าใช้จ่ายส่วนตัว หากศึกษาจากเว็บไซต์ของสถานศึกษาที่ตอบรับเข้าเรียน จะพบว่า สถานศึกษาอนุญาตให้นำเงินไปจ่ายได้หลายวิธี
ดังนั้น สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับนักศึกษาและผู้ปกครอง คือ อ่านข้อมูลจากสถานศึกษาที่ตอบรับนักศึกษาเข้าเรียนโดยละเอียดว่า สถานศึกษานั้นๆมีทางเลือกในการจ่ายเงินกี่ประเภท และ นักศึกษาหรือผู้ปกครองสะดวกที่จะใช้วิธีการใดมากกว่ากัน บางท่านอาจให้ความสำคัญที่ความรวดเร็วในการได้รับเงิน หรือบางท่านใช้ข้อมูลเรื่องค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่ายให้กับธนาคารในประเทศไทย และธนาคารที่อยู่ในต่างประเทศ มาเป็นองค์ประกอบในการตัดสินใจซื้อเงิน
โดยทั่วไปค่าเล่าเรียนหลักสูตรภาษาอังกฤษมักจะกำหนดตัวเลขที่ชัดเจนแน่นอน ในขณะที่ค่าเล่าเรียนระดับมหาวิทยาลัยยังไม่สามารถระบุชัดเจนได้ว่า ต้องมีจำนวนเท่าไรแน่นอน บางมหาวิทยาลัยอาจจะบอกราคามาเป็นราคาเหมาจ่าย เช่น ถ้าลงทะเบียนเรียนตั้งแต่ 9 หน่วยกิต หรือ 12 หน่วยกิตขึ้นไป คิดอัตราค่าเรียนจำนวนนี้ หรือ บางมหาวิทยาลัยอาจจะบอกราคาค่าเล่าเรียนมาเป็นราคาต่อหน่วยกิต เช่น รายวิชาหนึ่งวิชาที่นักศึกษาจะลงทะเบียนเรียนมีจำนวน 3 หน่วยกิต ให้นำ 3 ไปคูณกับราคาค่าเล่าเรียนต่อหน่วยกิต ค่าเล่าเรียนจะมีตั้งแต่ระดับราคาไม่กี่ร้อยเหรียญ ไปจนถึงระดับราคาเป็นพันเหรียญต่อหนึ่งรายวิชา เว็บไซต์บางมหาวิทยาลัยจะมีตารางการคำนวณค่าเล่าเรียนสำเร็จรูปที่นักศึกษาจะต้องนำไปจ่าย
ดังนั้น ในกรณีเรียนภาษาอังกฤษอย่างเดียว เมื่อนักศึกษาทราบราคาค่าเล่าเรียนที่คงที่ ก็สามารถซื้อเงินในรูปตราสารประเภทดราฟท์ สั่งจ่ายชื่อสถานศึกษาตามที่สถานศึกษาแห่งนั้นกำหนดมา หากไม่ทราบชือว่า ต้องเขียนสั่งจ่ายอย่างไร ให้นักศึกษาเขียนอีเมล์ไปสอบถามสถานศึกษานั้นๆได้ ในกรณีจ่ายค่าลงทะเบียนเรียนไม่ว่าจะเป็นระดับปริญญาตรี ปริญญาโท หรือปริญญาเอก นักศึกษาสามารถเข้าไปค้นหาในเว็บไซต์ของสถานศึกษาที่ตอบรับนักศึกษาเข้าเรียนได้ สถานศึกษานั้นๆอาจกำหนดให้ชำระเป็นดราฟท์ต่างประเทศ บัตรเครดิต เงินสด หรือโอนเงิน แบบใดแบบหนึ่งก็ได้ แต่บางแห่งอาจมีให้นักศึกษาต่างชาติเลือกจ่ายเงินได้เพียง 2 หรือ 3 ประเภทเท่านั้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับนโยบายการรับชำระค่าเรียนของสถานศึกษานั้นๆ
นักศึกษาอาจแก้ไขปัญหาด้วยการซื้อเงินในรูปดราฟท์ เช็คเดินทางและเงินสด ไปเปิดบัญชีในชื่อนักศึกษา เมื่อถึงเวลาต้องจ่ายค่าเล่าเรียนก็ให้จ่ายตามรูปแบบที่ทางสถานศึกษาต้องการ โดยจ่ายจากบัญชีของนักศึกษาในสหรัฐอเมริกา หรือ ถ้านักศึกษาต้องการใช้วิธีการโอนเงิน ก็เป็นการโอนเงินเข้าบัญชีของนักศึกษาในสหรัฐอเมริกา แล้วนำเงินในบัญชีของนักศึกษาที่สหรัฐอเมริกาไปจ่ายค่าเล่าเรียน เป็นต้น
ตัวอย่างเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยที่อธิบายเรื่องการจ่ายเงินค่าเล่าเรียน
- San Francisco State University http://www.sfsu.edu/~bursar/fall2011/fees/pay_methods.html มหาวิทยาลัยอนุญาตให้นักศึกษาจ่ายค่าเล่าเรียนเป็นเงินสด, เช็คส่วนตัว,บัตรเครดิต,e-Checkและการโอนเงิน อย่างใดอย่างหนึ่ง
- San Diego State University http://arweb.sdsu.edu/es/schedule/money/fall10.html#pay_options อธิบายว่า มหาวิทยาลัยจะรับการจ่ายเงินค่าเล่าเรียนได้ 3 ประเภท คือ e-Check ,บัตรเครดิต, และเช็ค
นอกจากนี้ บางมหาวิทยาลัยจะอธิบายให้นักศึกษาทราบถึง บทลงโทษ กรณีการชำระเงินไม่เป็นไปตามเงื่อนไขด้วย เช่น เช็คนั้นไม่สามารถขึ้นเงินได้ หรือโอนเงินไปแล้ว แต่มหาวิทยาลัยถูกหักค่าธรรมเนียมการรับเงินโอน ทำให้มหาวิทยาลัยได้รับเงินที่โอนมาไม่ครบ เป็นต้น เงื่อนไขต่างๆเป็นเงื่อนไขทางกฎหมายที่ทางสถานศึกษาแต่ละแห่งชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษร กรณีมีความไม่ถูกต้องเกิดขึ้นเท่านั้น วิธีการจ่ายเงินแบบต่างๆของสถานศึกษาในสหรัฐอเมริกามีดังนี้ คือ
1. การ จ่ายค่าเล่าเรียนเป็น personal check, cashier’s check หรือ money order ให้เขียนเช็คสั่งจ่ายชื่อมหาวิทยาลัยตามที่มหาวิทยาลัยกำหนดไว้ ถ้าเขียนสั่งจ่ายผิด มหาวิทยาลัยจะขึ้นเงินไม่ได้ โดยด้านหน้าเช็คส่วนตัว (Personal check) ต้องมีชื่อนักศึกษา และหมายเลขประจำตัวของนักศึกษา บางมหาวิทยาลัยอาจจะให้จ่ายในรูปของ e-Check ดังนั้นเมื่อนักศึกษาเดินทางไปถึงสหรัฐอเมริกาจึงควรเปิดบัญชีธนาคาร ประเภทใช้เช็ค หรือที่เมืองไทยเรียกว่า บัญชีกระแสรายวันนั่นเอง ลักษณะของเช็คประเภทต่างๆ เช่น Personal Check , e-Check ถ้านักศึกษาไม่เข้าใจวิธีการใช้ สามารถปรึกษากับเจ้าหน้าที่ธนาคารที่นักศึกษาเปิดบัญชีธนาคารในสหรัฐอเมริกาได้ หรือสอบถามจาก International Student Officer ที่อยู่ในมหาวิทยาลัยของนักศึกษา หรือเข้ารับฟังการปฐมนิเทศก์นักศึกษาใหม่ (Orientation) เมื่อนักศึกษาเดินทางไปถึงสถานศึกษาแห่งนั้นแล้ว หรือจะสอบถามจากเพื่อนักศึกษาด้วยกันก็ได้ ตัวอย่าง คำอธิบายเรื่องการใช้เช็ค จากเว็บไซต์ San Francisco State University http://www.sfsu.edu/~bursar/student/fees/personal_check.html
กรณีเช็คมีปัญหา นักศึกษาจะต้องรับผิดชอบจ่ายค่าธรรมเนียมที่เช็คขึ้นเงินไม่ได้ 20 เหรียญ ในกรณีที่มหาวิทยาลัยส่งใบลงทะเบียนเรียนกลับคืนนักศึกษา นักศึกษาต้องจ่ายค่า Administrative fee 20 เหรียญและอาจจะต้องจ่ายค่าลงทะเบียนเรียนสายอีก 25 เหรียญ ในกรณีเช็คมีปัญหาขึ้นเงินไม่ได้จำนวน 3 ครั้งขึ้นไป นักศึกษาต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเพิ่ม 120 เหรียญรวมกับจำนวนเงินที่เขียนอยู่บนหน้าเช็ค และค่าขึ้นศาล ซึ่งหมายความว่า นักศึกษาอาจจะได้รับแจ้งข้อหาทางกฎหมายอาญาก็ได้ ในความเป็นจริง คงไม่มีนักศึกษาทำเช่นนั้น แต่มหาวิทยาลัยเขียนบทลงโทษไว้ก่อน เพื่อให้นักศึกษาทราบว่า บทลงโทษคืออะไร
อนึ่ง กรณีนำเช็คไปขึ้นเงินแล้วไม่มีเงินในเช็คใบนั้น ค่าธรรมเนียมสำหรับเช็คไม่มีเงินในแต่ละรัฐอาจไม่เท่ากัน เช่น University of Pennsylvania ได้ชี้แจงให้นักศึกษาทราบว่า ถ้าเช็คไม่มีเงิน นักศึกษาต้องจ่ายค่าธรรมเนียม 30 เหรียญ หรือ George Washington University ใน DC ชี้แจงว่านักศึกษาต้องจ่าย 35 เหรียญกรณีไม่มีเงินในเช็ค
2. จ่ายเป็นเงินสด ต้องไปจ่ายด้วยตนเองที่ Bursar’s Office ของมหาวิทยาลัย ห้ามใส่ลงไปใน dropbox หรือส่งเงินสดไปทางไปรษณีย์
จ่ายเงินสดที่ Georgetown University http://studentaccounts.georgetown.edu/Payment/PaymentOptions/cash.html
3. กรณีจ่ายด้วยบัตรเครดิต หรือจ่ายด้วย e-Check ทางมหาวิทยาลัยจะแจ้งนักศึกษาอีกครั้งว่าให้ไปติดต่อหน่วยงานใด เพื่อทำความตกลงว่านักศึกษาจะใช้วิธีการจ่ายเงินด้วยบัตรเครดิต หรือด้วย e-Check สำหรับค่าธรรมเนียมในการจ่ายด้วยบัตรเครดิตคิด 2.5% และ 0.50$ สำหรับการโอนด้วย e-Check ต่อหนึ่งครั้ง ราคาที่กล่าวมานี้เป็นราคาค่าธรรมเนียมในสหรัฐอเมริกา
4. บางมหาวิทยาลัยอนุญาตให้นักศึกษาจ่ายค่าเล่าเรียน online โดยตัดจากบัญชีของนักศึกษาในสหรัฐอเมริกา จะเป็นบัญชีใช้เช็ค หรือบัญชีสะสมทรัพย์ก็ได้ และให้จ่ายก่อนล่วงหน้าวันที่กำหนด 3 วันในขณะที่เลือกถ้าส่งทางไปรษณีย์ หรือโดยการโอนเงิน จะต้องส่งก่อนล่วงหน้าวันครบกำหนดการจ่ายค่าเล่าเรียนอย่างน้อย 5 วัน หรือบางมหาวิทยาลัยอามีข้อจำกัดว่าโอนเงินให้มหาวิทยาลัยได้ครั้งละไม่เกินจำนวนกี่เหรียญ เป็นต้น เช่นเว็บไซต์ของ San Francisco State University http://www.sfsu.edu/~bursar/fall2011/fees/wire_trans_policy.html
หรือมหาวิทยาลัยอาจจะบอกค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมเวลาโอนเงินเข้าบัญชีของมหาวิทยาลัยด้วย เช่น เว็บไซต์ของ University of Pennsylvania http://www.sfs.upenn.edu/paymybill/index.htm เป็นต้น